ประวัติ ของ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63

การจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกลในขณะนั้น แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลซึ่งได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่ 1 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งแรก โดยชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่ผู้จัดการรัฐบาล รวบรวมพรรคการเมืองซึ่งเคยเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดก่อนหน้าทั้งหมดที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเสรีรวมไทย[2] และยังมีพรรคที่เข้าร่วมเพิ่มเติมภายหลังได้แก่ พรรคเป็นธรรม[3] พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง[4] โดยมีการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งทั้ง 8 พรรคมีมติสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย, จัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ[5] และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งรัฐบาลด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย[6] จากนั้นมีข่าวว่าพรรคใหม่และพรรคชาติพัฒนากล้าได้ตกลงเข้าร่วมรัฐบาลด้วย แต่ถูกคัดค้านจากประชาชนจึงถอนตัวในเวลาต่อมา[7][8]

บันทึกความเข้าใจจัดตั้งรัฐบาล

ทั้ง 8 พรรคได้ลงนามบันทึกความเข้าใจจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลารัฐประหาร[6] โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยึดหลักการผลักดันนโยบายที่ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายถึง ไม่มีวาระการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้[9] ประกอบด้วยวาระร่วม 23 ข้อ และแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ ซึ่งบรรจุประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมรสเท่าเทียม, การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ, การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ, การกระจายอำนาจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น[10]

การจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย

ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทยรอบแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พิธาได้รับการลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพียง 324 เสียง ซึ่งไม่ถึง 376 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้[11] และวันที่ 19 กรกฎาคม มีการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่รัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติซ้ำ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาได้อีกในสมัยประชุมเดียวกัน[12] สองวันถัดมา ชัยธวัชจึงประกาศมอบสิทธิ์ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยกล่าวว่ามีกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับตนไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ[13]

วันรุ่งขึ้น พรรคเพื่อไทยจึงได้เริ่มต้นเจรจากับพรรคภูมิใจไทย[14] พรรคชาติพัฒนากล้า[15] และพรรครวมไทยสร้างชาติ[16] และวันถัดมาเจรจากับพรรคชาติไทยพัฒนา[17] และพรรคพลังประชารัฐ[18] ซึ่งทั้ง 5 พรรคระบุตรงกันว่าไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองที่มีนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พรรคเพื่อไทยประกาศเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติ[19] จากนั้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยยกเลิกบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล[20] และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย โดยมีเงื่อนไขไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และไม่นำพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล[21] จากนั้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม มีพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเพิ่มเติมคือ พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคท้องที่ไทย[22] และวันถัดมาเพิ่มพรรคชาติไทยพัฒนาเข้ามาด้วย[23] ต่อมามีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ และอาจดึงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขัดกับหลักการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน[24] พรรคก้าวไกลจึงมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมว่า จะไม่ให้ความเห็นชอบให้แต่งตั้งบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี[25] วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อเศรษฐาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[26] สองวันถัดมาพรรครวมไทยสร้างชาติแถลงร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย[27]

และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยได้นำพรรคการเมืองทั้งหมดที่ตกลงเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ รวมจำนวน 11 พรรค มาร่วมกันแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการจัดสรรกระทรวงภายในพรรคร่วมตามสัดส่วน และทุกพรรคตกลงที่จะร่วมผลักดันนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล, การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ, การเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ[28] สุดท้าย ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม เศรษฐาได้รับการลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา 482 ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ส่งผลให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย[29]

การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและการปฏิบัติหน้าที่

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่[30] โดยการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 110 วัน นับเป็นคณะรัฐมนตรีที่ใช้เวลาจัดตั้งนานที่สุดในประวัติศาสตร์คณะรัฐมนตรีไทย

พรรคเพื่อไทยได้สัดส่วนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดนี้มากที่สุด จำนวน 19 ที่นั่ง รองลงมาเป็นพรรคภูมิใจไทย 9 ที่นั่ง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 5 ที่นั่ง (รวมโควตาบุคคลภายนอก), พรรคพลังประชารัฐ 4 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ พรรคละ 1 ที่นั่ง ทั้งนี้ เศรษฐาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด (41 ปี) ขณะที่เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีอายุมากที่สุด (77 ปี)[31] และมีผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่เป็นสตรีจำนวน 5 คน[32]

วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 13:53 น. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมจำนวน 34 คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่[33] จากนั้นในวันรุ่งขึ้นได้มีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อเตรียมสำหรับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา[34]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (สิงหาคม 2023)

ใกล้เคียง

คณะรัฐมนตรีไทย คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 60 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 59 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 54 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 56 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 55 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 57

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 https://www.bbc.com/thai/articles/c4nkxd09md1o https://thematter.co/brief/204030/204030 https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1295... https://www.moveforwardparty.org/wp-content/upload... https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E... https://www.thaipbs.or.th/news/content/328001 https://www.bbc.com/thai/articles/cg3dewqgj60o https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E... https://www.thairath.co.th/news/politic/2709301 https://www.thaipbs.or.th/news/content/329837